บริการเจาะสำรวจดิน Boring Test Service
การเจาะสำรวจดิน คือ กรรมวิธีการเจาะลงไปในชั้นดิน, เก็บตัวอย่างดิน, ทดสอบคุณสมบัติดินในสนาม, หยั่งชั้นดินจากผิวดิน หรือใช้เทคนิคอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งลักษณะชั้นดินทั้งทางแนวดิ่ง และเปลี่ยนแปลงทางแนวราบ เพียงพอในการที่จะออกแบบ หรือศึกษาทางด้านปฐพีกลศาสตร์ การเจาะสำรวจดิน ยังต้องคำนึงถึงประโยขน์ใช้งานด้วย เช่น งานถนนหรือสนามบิน การเจาะสำรวจจะทำเพียงตื้น ๆ แต่งานฐานรากเสาเข็มต้องสำรวจลึกลงไปกว่าปลายเข็มที่คาดว่าจะใช้งาน การสำรวจดินมีด้วยกันหลายประเภทอันได้แก่
1. การสำรวจโดยวิธีทางธรณีฟิสิกส์พื้นผิว (Geophysics Survey) ได้แก่การสำรวจโดยไม่ต้องทำการเจาะสำรวจ แต่ใช้เครื่องมือทดสอบบนพื้นผิวโดยใช้หลักการทางฟิสิกส์สำรวจรูปร่างการวางตัวของชั้นดิน วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่มีความถูกต้องน้อยกว่าการเจาะสำรวจ ตัวอย่างการสำรวจด้วยวิธีนี้ได้แก่ การทดสอบ Resistivity การทดสอบ Seismic Reflection และการทดสอบ Ground Penetration Radar (GPR) เป็นต้น
2. การทดสอบในสนาม (In-situ Testing) คือ การทดสอบคุณสมบัติดินในสนาม โดยไม่ได้เก็บตัวอย่างดินมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ แต่ใช้เครื่องมือทดสอบหยั่งลงในพื้นดินเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติดิน ณ ตำแหน่งความลึกต่าง ๆ ข้อดีของการทดสอบโดยวิธีนี้คือ ดินที่ถูกทดสอบอยู่ในสภาวะที่เป็นสภาวะจริง แต้ข้อเสียคือเครื่องมือที่ใช้วัดค่าส่วนใหญ่มีความละเอียดไม่เท่าเครื่องมือในห้องปฏิบัติการทำให้ได้ผลที่มีข้อจำกัดด้านความละเอียดของค่าตัวแปร ตัวอย่างการสำรวจด้วยวิธีนี้ ได้แก่ การทดสอบ Vane Shear การทดสอบ Cone Penetration และการทดสอบ Standard Penetration เป็นต้น
3. การเจาะสำรวจดิน (Soil Boring) การเจาะสำรวจมักจะทำควบคู่กันไปกับการเก็บตัวอย่างดิน และการทดสอบคุณสมบัติในสนาม ตัวอย่างวิธีการเจาะสำรวจได้แก่
ก. การเจาะสำรวจดินโดยใช้สว่านมือ (Hand Auger) เป็นการเจาะด้วยแรงคน โดยใช้สว่านมือและก้านเจาะ ใช้กับดินลักษณะต่าง ๆ กัน โดยที่ก้านเจาะซึ่งยาวประมาณ 1 เมตร โดยสามารถต่อให้ยาวหลาย ๆ ท่อนได้ เมื่อกดพร้อม ๆ กับหมุนมือถือจนดินเข้ามาเต็มสว่านแล้วต้องดึงขึ้นมาเพื่อนำดินออก ดินส่วนนี้อาจใช้ในการจำแนกดินทางวิศวกรรมได้ การเจาะด้วยสว่านมืออาจทำได้ลึกถึง 6-10 เมตร ในดินเหนียวแข็งปานกลางที่ระดับน้ำใต้ดินไม่สูงนัก
ข. การเจาะสำรวจดินโดยใช้การฉีดล้าง (Wash Boring) เป็นการเจาะดินโดยการสูบน้ำผ่านก้านเจาะลงไปที่หัวฉีดที่ก้นหลุมพร้อม ๆ กับกระแทกหรือหมุนของหัวเจาะ ทำให้ดินก้นหลุมหลุดไหลตามน้ำขึ้นมาบนผิวดินทำให้เกิดหลุมในดิน น้ำที่นำดินขึ้นมาจะไหลลงในอ่างตกตะกอน แล้วสูบน้ำที่ใสนำไปใช้ได้อีกในลักษณะการไหลเวียน วิธีนี้ต้องอาศัยสามขา (Tripod) เครื่องกว้าน (Motor และCatch head) และปั๊มน้ำ ในกรณีที่เจาะในชั้นของดินอ่อนหรือทราย จะต้องใช้ปลอกกันดินพัง (Casing) ด้วย โดยต่อเป็นท่อน ๆ การเจาะลักษณะนี้เป็นวิธีการเจาะดินที่เป็นที่นิยมในประเทศ เนื่องจากสามารถเจาะดินได้ลึกและสามาถใช้เจาะไปถึงตำแหน่งที่ต้องการเพื่อเก็บตัวอย่างดินหรือทดสอบในสนามได้ การเจาะโดยวิธีนี้สามารถเจาะได้เกินกว่า 60 เมตร ในชั้นดินกรุงเทพฯ
ที่มา: เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง การทดสอบในห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต่อการออกแบบก่อสร้าง โดย ผศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์