เจาะน้ำบาดาลด้วยเครื่องเจาะบ่อน้ำบาดาล
จะว่าไปแล้ว เมื่อกล่าวถึงเรื่องการเจาะ ที่เขาว่ากันว่า เป็นการเจาะแบบลึก ๆ ก็ไม่จะหยุดที่การเจาะดิน เพื่อเก็บตัวอย่างดินขึ้นมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ เราจะเจาะถึงชั้นน้ำใต้ดิน โดยเราจะนำน้ำนั้นขึ้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ การกำหนดความลึกของบ่อน้ำบาดาลจากผิวดินลงไปต้องไม่น้อยกว่า 10 เมตร จึงจะเรียกว่า”บ่อน้ำบาดาล” (พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520)
เราจะรู้หรือสังเกตได้อย่างไรว่า พื้นที่ตามธรรมชาติ ณ บริเวณนั้น จะสามารถเจาะพบน้ำบาดาลได้หรือไม่ เราก็จะมีวิธีการสังเกตดังนี้
1. เมื่อขับรถหรือเดินผ่านบริเวณใดมีความร้อนของอากาศเพิ่มขึ้นแสดงว่า บริเวณนั้นมีชั้นน้ำใต้ดินตื้น หากบริเวณใดอากาศเย็นแสดงว่าไม่มีชั้นน้ำใต้ดินหรือชั้นน้ำใต้ดินอยู่ลึกมาก
2. บริเวณหน้าดินเห็นหินก้อนใหญ่ ๆ โผล่ขึ้นเป็นพื้นที่กว้าง บริเวณนั้นไม่มีชั้นน้ำบาดาล
3. บริเวณเนินเขาไม่ควรเจาะบ่อน้ำบาดาล ควรหาพื้นที่เจาะที่ต่ำ ๆ หรือเชิงเขา
4. พื้นที่แห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง ให้เลือกเจาะบ่อบาดาลบริเวณที่มีแนวต้นไม้ขึ้นเขียวเป็นแนวยาวจะได้น้ำบาดาล
5. พื้นที่มีน้ำเค็มให้เลือกเจาะบริเวณเนินที่ต้นไม้ขึ้นเขียวจะได้น้ำบาดาล
6. บริเวณริมทะเลอย่าเจาะบ่อบาดาลลึกๆให้เจาะบ่อบาดาลตื้น ๆ ถ้าเจาะลึกน้ำจะเค็ม
7. บ่อน้ำบาดาลให้เจาะห่างจากบ่อส้วมหรือหลังคา บ้านไม่น้อยกว่า 30 เมตร
เครื่องเจาะน้ำบาลดูแล้วก็อาจจะส่วนประกอบและอาจจะมีรูปแบบการทำงานที่คล้ายกันอยู่บ้างกับเครื่องเจาะดิน เครื่องเจาะน้ำบาดาล แบ่งออกได้เป็น 4 แบบดังนี้
1.เครื่องเจาะแบบกระแทก (Percussion Rig) หลักการเจาะจะใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขับคันโยก (Walking Beam) เป็นตัวกำหนดจังหวะการดึงขึ้นและปล่อยลวดสลิงลง ลวดสลิงจะห้อยอยู่บนเสากระโดง (Mast) สูงประมาณ 50 ฟุต ลวดสลิงจะต่อกับข้อต่อ (Rope Socket) ให้ติดอยู่กับห่วง สองห่วง (Jar) เพื่อให้ห่วงยึดติดแน่นกับก้านเจาะ (Drill Pipe) ยาวประมาณ 30 ฟุต หนักประมาณ 100 ปอนด์ และหัวเจาะ (Drill) ยาวประมาณ 10 ฟุต หนักประมาณ 3000 ปอนด์ หัวเจาะเหมือนสิ่วลักษณะหัวเจาะแบนแหลมใช้สำหรับกระแทกหินไม่แข็งมาก หากลักษณะหัวเจาะแบนไม่แหลมใช้สำหรับกระแทกหินแข็ง เครื่องเจาะกระแทกใช้การยกของหัวเจาะแล้วปล่อยกระแทกลงมาเป็นจังหวะช่วงชัก 10-40 นิ้ว ลวดสลิงจะหมุนหัวเจาะกระแทกดินและหินให้เป็นหลุมกลม จนถึงชั้นน้ำใต้ดิน ในระหว่างการเจาะกระแทกเศษดินและหินจะนำขึ้นจากหลุดโดยใช้กระบอกตัก (Bailer) ตักออกทิ้ง เมื่อถึงชั้นให้น้ำจะรู้ได้ทันที โดยไม่ต้องใช้น้ำในการเจาะมาก และลงท่อรับทราย ก่อกรอง ท่อกรุบ่อ กลบบ่อด้วยดินเหนียว แล้วเริ่มพัฒนาบ่อโดยใช้กระบอกตักจนกว่าน้ำในบ่อจะใส สลักด้วยการใช้ปั๊มน้ำสูบน้ำทิ้งจนกว่าจะไสและไม่มีทรายเข้าบ่อ เครื่องเจาะกระแทกจะใช้น้ำในการขุดเจาะน้อยมาก เก็บชั้นดินและหินช่วงละ 1.50 เมตร ประมาณ 300 กรัม ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการเจาะแบบอื่นๆ เครื่องเจาะกระแทกเหมาะสำหรับการเจาะในหินแข็งขุดเจาะได้ประมาณวันละ 7 ฟุต
2.เครื่องแบบหมุนตรง (Direct Rotary Rig) หลักการเจาะจะใช้เครื่องยนต์ดีเซลไปหมุนก้านนำเจาะ (Kelly) และก้านเจาะต่อกับหัวเจาะให้หมุนลงเจาะดินให้เป็นหลุม ระหว่างการเจาะจะใช้ปั๊มลูกสูบให้สูบน้ำโคลนจากบ่อผสมอัดข้าก้านเจาะผ่าน Swivel ที่ติดอยู่บนก้านนำเจาะ เพื่ออุดผนังบ่อไม่ให้พัง เมื่อเจาะถึงชั้นให้น้ำจะกว้านบ่อให้ใหญ่ขึ้น และใช้เครื่องมือวัดค่าความต้านไฟฟ้าในหลุมเจาะ (Electric Rocker) เพื่อให้รู้ว่าจะลงท่อกรองน้ำให้ตรงกันชั้นให้น้ำในบ่อบาดาล เมื่อกว้านบ่อให้ใหญ่ได้ขนาดแล้ว ลงท่อรับทราย (End Plug) ตามท่อกรองน้ำและท่อกรุบ่อ กรุกรวดรอบท่อและดินเหนียว จากนั้นเทคอนกรีตหุ้มท่อกรุบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมลงไปในบ่อบาดาล จากนั้นเริ่มพัฒนาบ่อด้วยลมที่แรงดันไม่ต่ำ 100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) จนกว่าน้ำจะไหลและไม่มีทรายเข้าบ่อ ทดสอบปริมาณน้ำเพื่อให้ทราบว่าบ่อบาดาลสามารถให้น้ำได้มากน้อยเพียงใด เพื่อลงเครื่องสูบน้ำต่อไป เครื่องเจาะแบบนี้เหมาะสำหรับเจาะบ่อบาดาลที่เป็นชั้นหินร่วนหรือหินแข็งเจาะ ขุดเจาะได้ประมาณวันละ 3 ฟุต
3.เครื่องหมุนแบบดูดกลับ (Reverse Rotary Rig) หลักการเจาะเหมือนกับเครื่องเจาะแบบหมุนตรงจะแตกต่างกันที่น้ำโคลนจะไหลลงไปข้างบ่อที่ขุดเจาะ แล้วใช้เครื่องสูบน้ำโคลนผ่านหัวเจาะขึ้นมาทางก้านเจาะซึ่งมีขนาดใหญ่ บ่อบาดาลที่เจาะด้วยเครื่องเจาะหมุนแบบดูดกลับจะได้บ่อบาดาลขนาดใหญ่และได้ปริมาณน้ำมาก เจาะได้เฉพาะบริเวณที่เป็นหินร่วนดินทรายเท่านั้น
4.เครื่องเจาะแบบผสม (Combination Rig) ใช้น้ำและลมช่วยในการเจาะโดยใช้เครื่องเจาะแบบหมุนตรง (Direct Rotary Rig ) เมื่อขุดเจาะบริเวณหินร่วนจะใช้น้ำโคลนสูบอัดลงทางก้านเจาะไหลออกทางด้านข้างบ่อ และเมื่อเจาะบริเวณหินแข็งจะเปลี่ยนหัวเจาะเป็นแบบใช้ลม (Down The Hole Hammer) แรงดันลมประมาณ 100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ปริมาณลมประมาณ 600 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาที สูบอัดลงทางก้านเจาะแทนการใช้น้ำจะเจาะได้เร็วมากในหินแห่งประมาณชั่วโมงละ 15 ฟุต จึงเป็นที่นิยมใช้เครื่องเจาะแบบผสมอย่างมากในการใช้เจาะบ่อน้ำบาดาลในปัจจุบัน
หลักเกณฑ์การเจาะบ่อน้ำบาดาล
1. ความลึกจากพื้นดินลงไปเกินกว่า 10 เมตร ต้องใช้เครื่องเจาะบ่อน้ำบาดาล
2. บ่อน้ำบาดาลที่ขุดเจาะต้องกว้างกว่าท่อกรุบ่อไม่น้อยกว่าข้างละ 7.5 เซนติเมตร
3. ปลายสุดของท่อในบ่อน้ำบาดาล เป็นท่อรับทรายความยาว 3 เมตร
4. ท่อกรองบริเวณชั้นให้น้ำในบ่อบาดาล ความยาวของท่อกรองไม่น้อยกว่า 2/3 ของชั้นน้ำ
5. ท่อกรุบ่อต้องสูงกว่าพื้นดินเดิมไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
6. กรวดกรุรอบท่อกรองมีขนาด 3-5 มิลลิเมตร หรือ ขนาด ¼ นิ้ว
7. กรวดรอบท่อกรองน้ำต้องสูงกว่าท่อกรองได้ไม่เกิน 5 เมตร
8. ดินเหนียวใส่เหนือกรวดกรองโดยปั้นเป็นก้อนขนาด ½ นิ้ว ใสให้ต่ำกว่าพื้นดินเดิมลงไปไม่น้อยกว่า 6 เมตร
9. เทคอนกรีตรอบท่อกรุบ่อต่อจากดินเหนียวจนเต็มบ่อ โดยทำเป็นชานพักรอบท่อกรุบ่อเสมอพื้นดินขนาด 2x2x0.15 เมตร
หลักการพิจารณาใช้ท่อกรุบ่อ
1. ท่อกรุบ่อ AP 5L เป็นท่อเหล็กเหนียวสีดำ ผลิตตามมาตรฐานของสถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา โดยใช้ร่วมกับท่อกรอง (Screen) ทำด้วย Stainless Steel เป็นท่อกรุบ่อบาดาลที่มีอายุการใช้งานยืนยาว แข็งแรง ทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำ
2. ท่อกรุบ่อ ASTM A 53 หรือ ASTM A 120 เป็นท่อเหล็กเหนียวสีดำหรือเคลือบสังกะสีผลิตตามาตรฐานของสมาคม ASTM แห่งสหรัฐอเมริกา ให้เลือกเป็นท่อกรุบ่อบาดาลรองจากท่อ API 5L ราคาถูกกว่าและความคงทนน้อยกว่า
3. ท่อกรุบ่อ Galvanized Steel Pipe เป็นท่อเหล็กอาบสังกะสี ผลิตตามมาตรฐานแห่งอังกฤษ BS 1387 บนผิวท่อคาดสีเหลืองเป็นท่อชนิดบาง บนผิวท่อคาดสีน้ำเงินเป็นท่อชนิดหนาปานกลาง บนผิวท่อตาดสีแดงเป็นท่อชนิดหนา ใช้เป็นท่อกรุบ่อราคาถูกอายุการใช้งานสั้นมาก
4. ท่อกรุบ่อ Polyviny Chloride เป็นท่อพีวีซีคุณภาพชั้น 5, 8.5 และ 13.5 ใช้เป็นท่อกรุบ่อราคาถูกแตกชำรุดได้ง่ายแต่ทนต่อสภาพการกัดกร่อนของน้ำ
ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://202.129.59.73/tn/March54/Water%20Well.htm
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงการเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้อ่านเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับงานบริการของทาง บริษัท เดนิช ซอยล์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด แต่อย่างใด