ดินเสื่อมโทรม
ดินเสื่อมโทรม หมายถึง ดินที่มีปัญหาในด้านการใช้ประโยชน์ และต้องมีการจัดการดินเป็นกรณีพิเศษกว่าดินทั่ว ๆ ไป จึงจะสามารถใช้ในการเพาะปลูก และให้ผลผลิตดี สภาพดินเสื่อมโทรมใน ประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 3 สภาพดินด้วยกัน คือ
1. ดินทราย (Sandy soils) ดินทรายมีพื้นที่ประมาณ 6 ล้านไร่ ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคตะวันออกเฉียง เหนือประมาณ 3 ล้านไร่ นอกจากนั้น ยังพบกระจัดกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ ดินทรายมี 2 ประเภท
1.1 ดินทรายจัด เป็นดินที่พบในสภาพภูมิประเทศที่เป็นหาดทรายหรือสันทรายชายฝั่งทะเลภาคใต้ ภาคตะวันออก และในบริเวณที่ดอนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของหินวัตถุต้นกำเนิดดินที่มีเนื้อหยาบ มีพื้นที่ประมาณ 6 ล้านไร่ เนื้อดินประกอบด้วยเม็ดทรายล้วน ๆ มีขนาดค่อนข้างหยาบ มีความโปร่งตัวน้ำซึมผ่านลงไปในดินล่างได้สะดวก ไม่สามารถจะอุ้มน้ำหรือเก็บความชื้นไว้ในดินได้ ธาตุอาหารพืชถูกชะล้างไปได้ง่าย จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดังนั้น การปลูกในดินทรายจะไม่ค่อยได้ผล ยกเว้นบริเวณพื้นที่ที่ มีฝนตกชุก หรือมีระดับน้ำใต้ดิน อยู่ตื้น ซึ่งอาจจะปลูกพืชเศรษฐกิจบางประเภทได้ เช่น มะพร้าว มันสำปะหลัง มะม่วงหินมพานต์ แตงโม หรือปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้ผลผลิตต่ำมาก การแก้ไขปรับปรุงบำรุง ดิน ทำได้โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมีควบคู่กันไปเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร ในดินให้แก่พืช นอกจากนี้ควรปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน หรือปลุกไม้โตเร็วบางชนิด เพราะนอกจากมีการสร้างป่า สร้างสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการอนุรักษ์ดินอีกด้วย
1.2 ดินทรายดาน มีเนื้อที่ประมาณ 6 แสนไร่ ส่วนใหญ่พบในภาคใต้ ภาคตะวันออกในสภาพพื้นที่ ที่เป็นสันทรายเก่าชาย ฝั่งทะเล และพบบ้างเล็กน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อดินจะเป็นทรายจัด และมีชั้นดานที่เกิดจากสารฮิวมัส มีเหล็กและอลูมินัมซึ่งถูกชะล้างจากดินบนเจือปนสะสมอยู่ในชั้นระดับน้ำใต้ ดินและมีปริมาณมาก จนสามารถเชื่อมเม็ดทรายให้เกาะติดกันจนกลายเป็นชั้นดานแข็งมีความหนาประมาณ 10-40 เซ็นติเมตร ส่วนใหญ่จะอยู่ในความลึกประมาณ 50-60 เซ็นติเมตร อุปสรรคของดินทรายดานที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชได้แก่ชั้นดินทรายสีจาง ซีดจนเกือบเป็นทรายขาว ที่อยู่ถัดเหนือชั้นดาน ชั้นนี้จึงเป็นทรายล้วน ๆ ที่ไม่มีสิ่งที่พืชจะใช้ประโยชน์ได้อยู่เลย เป็นชั้นที่ขาดธาตุอาหารพืชอย่างรุนแรง ประกอบกับเป็นชั้นดานที่แข็งมาก รากพืชไม่สามารถที่จะชอนไชเข้าไปหาอาหารได้ ดังนั้น เมื่อปลูกพืชในดินนี้พืชจึงเคระแกร็นไม่เจริญเติบโต
การ จัดการ เนื่องจากดินชุดนี้มีชั้นดานอินทรีย์ (spodic horison) เห็นได้ชัดเจนและเนื้อดินเป็นดินทราย เมื่อต้องการปลูก พืชบนชุดดินชุดนี้ โดยเฉพาะพืชยืนต้นต้องทำลายชั้นดานอินทรีย์นี้ออกเสียก่อน แล้วคลุกดินผสมรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ ดีขึ้น ช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้มาก ขึ้นพืชที่ปลูกได้บนดินชุดนี้ได้แก่ มะม่วง มะม่วงหินมพานต์ มะพร้าว ยาสูบ และถั่วต่าง ๆ แต่ควรมีแหล่งน้ำสำหรับพืชด้วยควรใส่ปุ๋ยบำรุงดินอยู่เสมอ ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันไป
2 ดินลูกรัง (Skeletal soils) ดินลูกรังและดินตื้น หมายถึงดินที่มีชั้นลูกรัง หรือเศษหินกรวด เกิดขึ้นเป็นชั้นหนาและ แน่น จนเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช และพบในความลึก 50 ซม. จากผิวดินบน โดยปกติชั้นลูกรังที่กล่าวนี้จะประกอบกอบด้วยลูกรัง เศษหิน หรือ กรวดไม่ต่ำกว่า 35 % โดยปริมาตร จากผลการสำรวจดินระดับจังหวัดของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่ามีดินลูกรังและดินตื้นในประเทศไทยประมาณ 52 ล้านไร่ และเกิดขึ้นในสภาพพื้นที่ 2 ลักษณะคือ ในพื้นที่ราบเรียบและค่อนข้างราบเรียบของลานตะพักลำน้ำขั้นต่ำ (low terrace) และขั้นกลาง (middle terrace) ดินลูกรังในสภาพพื้นที่ส่วนนี้จะเกิดขึ้นเป็นชั้นหนา 40-80 ซม. ภายใต้ชั้นลูกรังลงไปมักเป็นชั้นดินเหนียวส่วนดินลูกรังอีกพวกหนึ่งจะเกิดใน สภาพที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่น พื้นที่มีระดับสูงกว่าและมีชั้นลุกรังหนากว่าด้วย ดินลูกรังในพื้นที่ดังกล่าวนี้เกิดจากการสลายตัวของหินแล้วกลายสภาพมาเป็น ลูกรังอยู่กับที่ ส่วนใหญ่เกิดจากหินดินดานและหินทรายละเอียดกล่าวโดยทั่วไป ดินลูกรังและดินตื้นเป็นดินที่มีศักยภาพในการเกษตรต่ำ เพราะดินชั้นล่างแน่นทึบ เกิดปัญหาการไชชอนของระบบราก การระบายน้ำไม่ดี การอุ้มน้ำต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมีการชะล้างพังทลายของดินสูง เป็นดินที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ หากใช้วิธีการจัดการเช่นเดียวกับดินชนิดอื่น ๆ สมควรที่จะจัดทำเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรืออาจปลูกไม้โตเร็วทำให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ และภาคตะวันออกอาจปลูกยางพาราได้ แต่จะต้องมีวิธีการจัดการที่ถูกต้อง
3. ดินเหมืองแร่ร้าง (Min spoil land) เป็นดินในบริเวณพื้นที่ที่เคยทำเหมืองแร่มาก่อน ซึ่งปัจจุบันได้เลิก กิจการไปแล้ว สภาพพื้นที่ประกอบไปด้วยขุมเหมืองที่เป็นบ่อน้ำลึกกองหิน กองทรายเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีลานกรวดหินทรายแผ่ไปทั่วบริเวณพื้นที่เนื่องจากถูกพัดพามาจากที่สูงบนเนิน พบมากที่ภาคใต้ แถบจังหวัด พังงา ภูเก็ต ระนองและสงขลา และในภาคตะวันออกแถบจังหวัด จันทบุรี ตราด
ดินบริเวณนี้ นอกจากเป็นดินที่เสื่อมโทรมแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ทำให้ลำคลองตื้นเขิน เนื่องจากกรวด ดิน ทราย จะถูกพัดพาไปตกทับถม อีกทั้งทำให้เนื้อที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ทำการเกษตรกรรมลดลง สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางมาตรการที่เข้มงวดกวดขัน ในการปรับระดับพื้นที่ และปรับปรุงคุณภาพดินโดยการปลูกหญ้า พืชตระกูลถั่วคลุมดินหรือไม้โตเร็ว เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน เหมาะที่จะเป็นพื้นที่ปลูกป่าหรือใช้ประโยชน์ในอนาคต
ที่มา : http://www.doae.go.th/spp/biofertilizer/ss1.htm (กรมส่งเสริมการเกษตร)